...ยินดีต้อนรับทุกท่าน..สู่เวบไชต์สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย...

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ร่วมคลินิคเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า ร่วมปฏิบัติงานคลินิคเกษตรเคลื่อนที่ ในพระบรมราชานุเคราะห์ฯเฉลิมพระเกียรติ ระดับประเทศ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติ พระองค์เจ้าศรีรัตน์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ออกพื้นที่ เก็บตัวอย่างเลือดม้าในพื้นที่เพื่อตรวจโรคEIA

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ออกพื้นที่ เก็บตัวอย่างเลือดม้าในพื้นที่เพื่อตรวจโรคEIA  ทำทะเบียนประวัติ ตามนะโยบายกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค EIA โดยกำหนดให้มีการทำรูปพรรณม้า บันทึกประวัติม้าตามระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) ทดสอบโรค EIA ในม้าใช้งานของเกษตรกรทั่วประเทศ ควบคุมโรคกรณีพบม้าติดเชื้อ รวมทั้งป้องกันการนำเข้าม้าที่เป็นพาหะของโรคจากต่างประเทศ และจากการทดสอบโรคดังกล่าว พบว่าจำนวนม้าที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโรคลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนน้อยมาก กรมปศุสัตว์จึงต้องเร่งกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน 4 ปี (ปี 2553-2556) พร้อมทั้งคุมเข้มการเคลื่อนย้ายม้า ลา และล่อ ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ตลอดจนสร้างสถานภาพปลอดโรค EIA ให้เป็นที่ยอมรับขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health; OIE) และต่างประเทศต่อไป

 โรค EIA ... โรคโลหิตจางติดเชื้อในม้า ... 
หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคเอดส์ม้า มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Equine Infectious Anemia เป็นโรคระบาดสัตว์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเลนติไวรัส (Lentivirus) สามารถเกิดโรคได้ในสัตว์ตระกูลม้าอื่นๆ ได้แก่ ลา และล่อ โดยมีระยะฟักตัวของโรค 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจยาวนานได้ถึง 3 เดือน ร่างกายม้าจะไม่สามารถกำจัดไวรัสให้หมดไป และสามารถพบเชื้อไวรัสได้ในอวัยวะต่างๆ เช่น ม้าม ตับ ไขกระดูก เม็ดเลือดขาว ไวรัสทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด เกิดการยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก ดังนั้นอาการหลักของโรคนี้คือ โลหิตจาง ลักษณะอาการขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ของสุขภาพม้า ความรุนแรงของสายพันธุ์ไวรัส และปริมาณเชื้อไวรัสที่ได้รับ สามารถแบ่งอาการได้เป็น 4 แบบดังนี้
1. แบบเฉียบพลัน – ม้าจะมีอาการไข้สูงมาก ซึม ม้าที่ป่วยจะตายภายใน 2-3 สัปดาห์ 
2. แบบกึ่งเฉียบพลัน – ม้าจะมีไข้ นานไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วหายไป ซึ่งเจ้าของสัตว์มักไม่ค่อยสังเกตพบอาการดังกล่าว ม้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นกล่มเรื้อรังหรือกลุ่มพาหะต่อไป
3. แบบเรื้อรัง – ม้าที่สามารถปรับตัวต่อการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่งจะไม่ตาย แต่แสดงอาการแบบไม่รุนแรง เช่น มีไข้เป็นระยะๆ ซีด โลหิตจาง พบการบวมน้ำที่บริเวณต่างๆ เช่นใต้ท้อง ใต้อก ปลายขา และซูบผอม ซึ่งจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากไม่สามารถใช้งานได้ และยังเป็นตัวแพร่โรคในฝูง
4. แบบพาหะของโรค – ม้าที่สามารถปรับตัวต่อการติดเชื้อได้จะดำรงชีวิตเหมือนม้าปกติ ไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคสู่ม้าตัวอื่นๆได้ ม้ากลุ่มนี้สามารถนำมาใช้งาน หรือมีการซื้อขายไป และหากเกิดภาวะเครียดอย่างรนแรง เช่น ทำงานหนัก หรือ การป่วยจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็สามารถกลับมาแสดงอาการป่วยในแบบเฉียบพลันและรุนแรงได้ 

ติดต่อสู่ม้าตัวอื่นๆอย่างไร ?
ทางหลักในการแพร่กระจายของโรค คือ แมลงดูดเลือด ได้แก่ เหลือบ แมลงวันคอกสัตว์ และยุง ซึ่งเหลือบเป็นตัวพาหะนำโรคที่สำคัญ เนื่องจากมีปากขนาดใหญ่เมื่อกัดและดูดเลือดจะก่อความรำคาญ ม้าจะขยับตัวและสะบัดหางไล่เหลือบจึงบินไปกัดม้าตัวที่อยู่ใกล้ๆ และนำไวรัสที่ปนอยู่ในเลือดม้าตัวแรกไปสู่ม้าตัวถัดไป พฤติกรรมตามปกติของเหลือบเมื่อถูกรบกวนขณะดูดเลือดจะบินไปกัดม้าตัวถัดไปในระยะไม่เกิน 180 เมตร และเชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ในปากของแมลงดูดเลือดได้นาน 30 นาทีถึง 4 ชั่วโมง

การแพร่ของโรคทางอื่นๆ ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ที่มีเลือดปะปนร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา ท่อสอดจมูก อุปกรณ์ตะไบฟัน อุปกรณ์เครื่องม้าที่อาจมีเลือดปนเปื้อนขณะใช้งาน นอกจากนี้มีรายงานการติดต่อของโรคผ่านทางรก (จากแม่สู่ลูก) ผ่านทางน้ำนมแม่ และการผสมพันธุ์

การตรวจวินิจฉัยโรค


องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แนะนำให้ใช้วิธี Agar gel immunodiffusion test (AGID) หรือ Coggin’s test ในการตรวจ ซึ่งวิธี AGID เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายม้าที่มีต่อเชื้อไวรัสโลหิตจางติดเชื้อ ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาตัวเชื้อไวรัส โดยสามารถตรวจได้หลังจากที่ม้าได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่น้อยกว่า 20-40 วัน ผลตรวจที่เป็นลบจึงอาจเกิดจากการที่ร่างกายม้ายังไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสในระดับที่สามารถตรวจพบได้ ดังนั้นในการตรวจครั้งแรกด้วยวิธี AGID หากได้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไป 20-40 วัน หรือประมาณ 1 เดือน เพื่อยืนยันผล

การป้องกันโรค

ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้ป้องกันโรค จึงควรมีการป้องกันแมลงดูดเลือดภายในฟาร์ม ได้แก่ มีมุ้งกันแมลงบริเวณคอกหรือโรงเรือน มีการกำจัดมูลสัตว์ สิ่งปูรองที่ใช้แล้วเป็นประจำ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือด ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาครั้งเดียวต่อม้า 1 ตัว มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเลือดทุกครั้งหลังการใช้ เช่น อุปกรณ์ตะไบฟันม้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆและควรมีการตรวจเลือดม้าทุกตัวในฟาร์ม ดังนี้
1. กรณีที่ไม่เคยตรวจโรค EIA มาก่อน - ทำโปรแกรมปลอดโรค โดยตรวจเลือดทุกตัวในฝูง ถ้าพบตัวที่ให้ผลบวกให้นำออกไปจากฝูง แล้วตรวจซ้ำทั้งฝูงใหม่อีกครั้ง ใน 30 วันถัดไป ถ้าพบตัวที่ให้ผลบวกอีกให้นำออกไปจากฝูง และตรวจซ้ำทั้งฝูงอีกครั้ง ใน 30 วันถัดไป จนกว่าจะไม่พบตัวบวกในฝูง ต้องมีผลลบทั้งฝูง 2 ครั้งที่ตรวจห่างกัน 30 วัน จึงจะสรุปได้ว่าฟาร์มปลอดโร
***ระหว่างที่อยู่ในโปรแกรมสร้างฟาร์มปลอดโรคไม่ควรนำม้าใหม่ที่ไม่ทราบประวัติเข้าฝูง และไม่ควรเคลื่อนย้ายม้าออกจากฝูง***
2. หากมีการนำม้าตัวใหม่เข้าฝูง ควรเป็นม้าที่มีทะเบียนประจำตัวสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดการทดสอบโรคนี้ และให้ผลลบต่อการตรวจโรค หรือเป็นม้าที่มาจากสถานที่เลี้ยงปลอดโรคที่กรมปศุสัตว์รับรอง และเมื่อนำม้าเข้าฟาร์มควรมีการกักโรคนาน 2 เดือนและตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะนำม้ารวมฝูง และคอกกักโรคควรแยกจากม้าเดิมในฟาร์มไม่ต่ำกว่า 200 เมตร
3. กรณีที่ฝูงนั้นเป็นฟาร์มปลอดโรคแล้ว ให้ตรวจเลือดทุกตัวในฝูงเป็นประจำทุกปี
4. หากมีการนำม้าไปผสมพันธุ์กับม้าต่างฟาร์มควรมีการตรวจโรคทั้ง 2 ฝ่าย
5. ในการแข่งขันกีฬาที่มีม้าเข้าร่วมทุกประเภท ต้องมีการกำหนดให้ ม้าทุกตัวมีใบรับรองการตรวจโรค EIA ที่มีอายุการตรวจไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และมาจากชมรมขี่ม้าที่ปลอดโรค

เมื่อม้าของเราติดเชื้อไวรัส EIA แล้ว ควรทำอย่างไร ?

1. แยกม้าที่ติดเชื้อออกจากฝูงให้ห่างจากม้าตัวอื่นๆ อย่างน้อย 180 เมตร และให้มีการป้องกันแมลงดูดเลือดม้าที่ติดเชื้อในระหว่างที่มีการกักด้วย เช่น มีมุ้งกันแมลงบริเวณคอกหรือโรงเรือน กำจัดมูลสัตว์ สิ่งปูรองที่ใช้แล้วเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือด
2. จัดการม้าที่ติดเชื้อโดยการทำเมตตาฆาต (ทำลาย) ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือการทำลายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ.2547
3. ตรวจเลือดม้าทุกตัวที่เลี้ยงร่วมฝูงกับตัวที่ติดเชื้อ โดยให้เจาะเลือดครั้งแรกของม้าร่วมฝูงในวันแรกที่เริ่มการกัก และตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน ถ้าผลการตรวจครั้งต่อไปยังคงให้ผลบวกต้องทำลายม้าตัวที่ให้ผลบวกและเริ่มนับครั้งการตรวจใหม่อีก 2 ครั้ง เมื่อผลการตรวจซีรั่มม้าทุกตัวในฝูงให้ผลลบติดต่อกัน 2 ครั้ง จึงจะถือว่าไม่มีโรคในฝูงม้
4. ทำลายเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงม้า โดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพพ่นโรงเรือนหรือคอกม้า

สำหรับการเคลื่อนย้ายม้าไปยังต่างจังหวัด เจ้าของม้าต้องเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตเคลื่อนย้าย ดังนี้
1. สมุดประจำตัวม้าของกรมปศุสัตว์ หรือ stud book 
2. ผลการตรวจโรค EIA จากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุขภาพสัตว์ เช่น ห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certification) เป็นภาษาอังกฤษที่ลงนามรับรองโดยสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่จากประเทศต้นทาง (กรณีม้านำเข้า) เป็นผลลบ ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันที่เจาะเลือด
3. ใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร (แบบ ร.4)




วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นายอำเภอเวียงป่าเป้ามอบใบรับรองเขียงสะอาด

 นายสุนทร  มหาวงศนันท์  นายอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มอบใบรับรองเขียงสะอาดให้เจ้าของกิจการขายเนื้อในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า มีนายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอร่วมเป็นกำลังใจ  ในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า เมือวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖
 




วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชุมซ้อมแผนไข้หวัดนก

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตวือำเภอเวียงป่าเป้า เข้าร่วมประชุมประจำเดือนของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่โรงแรมปาร์คอินเชียงราย นอกจากวาระตามปกติ มีการซ้อมแผนป้องกันโรคไข้หวัดนก การนำเสนอผลงานรอยครึ่งปีของแต่ละกลุ่มงาน การสร้างฟาร์มโคนมมาตรฐาน  ปิดท้ายด้วยการเลี้ยงขอบคุณเจ้าหน้าที่ช่วยเหลืองานด้านปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบลที่ได้ร่วมงานมาด้วยความขยันขันแข็ง





วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ผ่านศูนย์เรียนรู้นายอินถา สมตา

สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตรกรรายย่อย ประจำปีงบประมาณ 2556  ผ่านศูนย์เรียนรู้ของนายอินถา สมตา ณ ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน บ้านสัน ม.3 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 15  มกราคม  2556  โดยมีเกษตรกรผู้ที่สนใจและทำการเกษตรแบบ   ผสมผสาน เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 20 ราย

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

ฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ 2556

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2555 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จัดฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 50 คน ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลเวียงกาหลง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ทบทวนความรู้การปฏิบัติงานแก่อาสาปศุสัตว์ ในการฝึกอบรมครั้งนี้ มีนายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นประธานในพิธีเปิด และได้เชิญ นายพินิจ หล้าคำ อาสาปศุสัตว์ดีเด่นภาคเหนือตอนบน เป็นวิทยากรพิเศษบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง "ประสบการณ์การเป็นอาสาปศุสัตว์ดีเด่น" นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรบรรยายอีกหนึ่งท่านคือ น.ส.อรอนงค์ พิมพ์คำไหล นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ บรรยายในหัวข้อ "การปศุสัตว์กับ AEC" นายพงศภัค ช่วยรอด ปศุสัตว์อำเภอแม่สรวย บรรยาย เรื่อง โรคสัตว์ที่สำคัญและการป้องกันโรค

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม

 น.ส.อรอนงค์ พิมพ์คำไหล นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ บรรยายในหัวข้อ "การปศุสัตว์กับ AEC" 
นายพินิจ หล้าคำ อาสาปศุสัตว์ดีเด่นภาคเหนือตอนบน เป็นวิทยากรพิเศษบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง "ประสบการณ์การเป็นอาสาปศุสัตว์ดีเด่น"