...ยินดีต้อนรับทุกท่าน..สู่เวบไชต์สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย...

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ออกพื้นที่ เก็บตัวอย่างเลือดม้าในพื้นที่เพื่อตรวจโรคEIA

นายสุกิจ มากมี ปศุสัตว์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ออกพื้นที่ เก็บตัวอย่างเลือดม้าในพื้นที่เพื่อตรวจโรคEIA  ทำทะเบียนประวัติ ตามนะโยบายกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค EIA โดยกำหนดให้มีการทำรูปพรรณม้า บันทึกประวัติม้าตามระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) ทดสอบโรค EIA ในม้าใช้งานของเกษตรกรทั่วประเทศ ควบคุมโรคกรณีพบม้าติดเชื้อ รวมทั้งป้องกันการนำเข้าม้าที่เป็นพาหะของโรคจากต่างประเทศ และจากการทดสอบโรคดังกล่าว พบว่าจำนวนม้าที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโรคลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนน้อยมาก กรมปศุสัตว์จึงต้องเร่งกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน 4 ปี (ปี 2553-2556) พร้อมทั้งคุมเข้มการเคลื่อนย้ายม้า ลา และล่อ ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ตลอดจนสร้างสถานภาพปลอดโรค EIA ให้เป็นที่ยอมรับขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health; OIE) และต่างประเทศต่อไป

 โรค EIA ... โรคโลหิตจางติดเชื้อในม้า ... 
หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคเอดส์ม้า มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Equine Infectious Anemia เป็นโรคระบาดสัตว์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเลนติไวรัส (Lentivirus) สามารถเกิดโรคได้ในสัตว์ตระกูลม้าอื่นๆ ได้แก่ ลา และล่อ โดยมีระยะฟักตัวของโรค 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจยาวนานได้ถึง 3 เดือน ร่างกายม้าจะไม่สามารถกำจัดไวรัสให้หมดไป และสามารถพบเชื้อไวรัสได้ในอวัยวะต่างๆ เช่น ม้าม ตับ ไขกระดูก เม็ดเลือดขาว ไวรัสทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด เกิดการยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก ดังนั้นอาการหลักของโรคนี้คือ โลหิตจาง ลักษณะอาการขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ของสุขภาพม้า ความรุนแรงของสายพันธุ์ไวรัส และปริมาณเชื้อไวรัสที่ได้รับ สามารถแบ่งอาการได้เป็น 4 แบบดังนี้
1. แบบเฉียบพลัน – ม้าจะมีอาการไข้สูงมาก ซึม ม้าที่ป่วยจะตายภายใน 2-3 สัปดาห์ 
2. แบบกึ่งเฉียบพลัน – ม้าจะมีไข้ นานไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วหายไป ซึ่งเจ้าของสัตว์มักไม่ค่อยสังเกตพบอาการดังกล่าว ม้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นกล่มเรื้อรังหรือกลุ่มพาหะต่อไป
3. แบบเรื้อรัง – ม้าที่สามารถปรับตัวต่อการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่งจะไม่ตาย แต่แสดงอาการแบบไม่รุนแรง เช่น มีไข้เป็นระยะๆ ซีด โลหิตจาง พบการบวมน้ำที่บริเวณต่างๆ เช่นใต้ท้อง ใต้อก ปลายขา และซูบผอม ซึ่งจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากไม่สามารถใช้งานได้ และยังเป็นตัวแพร่โรคในฝูง
4. แบบพาหะของโรค – ม้าที่สามารถปรับตัวต่อการติดเชื้อได้จะดำรงชีวิตเหมือนม้าปกติ ไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคสู่ม้าตัวอื่นๆได้ ม้ากลุ่มนี้สามารถนำมาใช้งาน หรือมีการซื้อขายไป และหากเกิดภาวะเครียดอย่างรนแรง เช่น ทำงานหนัก หรือ การป่วยจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็สามารถกลับมาแสดงอาการป่วยในแบบเฉียบพลันและรุนแรงได้ 

ติดต่อสู่ม้าตัวอื่นๆอย่างไร ?
ทางหลักในการแพร่กระจายของโรค คือ แมลงดูดเลือด ได้แก่ เหลือบ แมลงวันคอกสัตว์ และยุง ซึ่งเหลือบเป็นตัวพาหะนำโรคที่สำคัญ เนื่องจากมีปากขนาดใหญ่เมื่อกัดและดูดเลือดจะก่อความรำคาญ ม้าจะขยับตัวและสะบัดหางไล่เหลือบจึงบินไปกัดม้าตัวที่อยู่ใกล้ๆ และนำไวรัสที่ปนอยู่ในเลือดม้าตัวแรกไปสู่ม้าตัวถัดไป พฤติกรรมตามปกติของเหลือบเมื่อถูกรบกวนขณะดูดเลือดจะบินไปกัดม้าตัวถัดไปในระยะไม่เกิน 180 เมตร และเชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ในปากของแมลงดูดเลือดได้นาน 30 นาทีถึง 4 ชั่วโมง

การแพร่ของโรคทางอื่นๆ ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ที่มีเลือดปะปนร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา ท่อสอดจมูก อุปกรณ์ตะไบฟัน อุปกรณ์เครื่องม้าที่อาจมีเลือดปนเปื้อนขณะใช้งาน นอกจากนี้มีรายงานการติดต่อของโรคผ่านทางรก (จากแม่สู่ลูก) ผ่านทางน้ำนมแม่ และการผสมพันธุ์

การตรวจวินิจฉัยโรค


องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แนะนำให้ใช้วิธี Agar gel immunodiffusion test (AGID) หรือ Coggin’s test ในการตรวจ ซึ่งวิธี AGID เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายม้าที่มีต่อเชื้อไวรัสโลหิตจางติดเชื้อ ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาตัวเชื้อไวรัส โดยสามารถตรวจได้หลังจากที่ม้าได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่น้อยกว่า 20-40 วัน ผลตรวจที่เป็นลบจึงอาจเกิดจากการที่ร่างกายม้ายังไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสในระดับที่สามารถตรวจพบได้ ดังนั้นในการตรวจครั้งแรกด้วยวิธี AGID หากได้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไป 20-40 วัน หรือประมาณ 1 เดือน เพื่อยืนยันผล

การป้องกันโรค

ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้ป้องกันโรค จึงควรมีการป้องกันแมลงดูดเลือดภายในฟาร์ม ได้แก่ มีมุ้งกันแมลงบริเวณคอกหรือโรงเรือน มีการกำจัดมูลสัตว์ สิ่งปูรองที่ใช้แล้วเป็นประจำ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือด ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาครั้งเดียวต่อม้า 1 ตัว มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเลือดทุกครั้งหลังการใช้ เช่น อุปกรณ์ตะไบฟันม้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆและควรมีการตรวจเลือดม้าทุกตัวในฟาร์ม ดังนี้
1. กรณีที่ไม่เคยตรวจโรค EIA มาก่อน - ทำโปรแกรมปลอดโรค โดยตรวจเลือดทุกตัวในฝูง ถ้าพบตัวที่ให้ผลบวกให้นำออกไปจากฝูง แล้วตรวจซ้ำทั้งฝูงใหม่อีกครั้ง ใน 30 วันถัดไป ถ้าพบตัวที่ให้ผลบวกอีกให้นำออกไปจากฝูง และตรวจซ้ำทั้งฝูงอีกครั้ง ใน 30 วันถัดไป จนกว่าจะไม่พบตัวบวกในฝูง ต้องมีผลลบทั้งฝูง 2 ครั้งที่ตรวจห่างกัน 30 วัน จึงจะสรุปได้ว่าฟาร์มปลอดโร
***ระหว่างที่อยู่ในโปรแกรมสร้างฟาร์มปลอดโรคไม่ควรนำม้าใหม่ที่ไม่ทราบประวัติเข้าฝูง และไม่ควรเคลื่อนย้ายม้าออกจากฝูง***
2. หากมีการนำม้าตัวใหม่เข้าฝูง ควรเป็นม้าที่มีทะเบียนประจำตัวสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดการทดสอบโรคนี้ และให้ผลลบต่อการตรวจโรค หรือเป็นม้าที่มาจากสถานที่เลี้ยงปลอดโรคที่กรมปศุสัตว์รับรอง และเมื่อนำม้าเข้าฟาร์มควรมีการกักโรคนาน 2 เดือนและตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะนำม้ารวมฝูง และคอกกักโรคควรแยกจากม้าเดิมในฟาร์มไม่ต่ำกว่า 200 เมตร
3. กรณีที่ฝูงนั้นเป็นฟาร์มปลอดโรคแล้ว ให้ตรวจเลือดทุกตัวในฝูงเป็นประจำทุกปี
4. หากมีการนำม้าไปผสมพันธุ์กับม้าต่างฟาร์มควรมีการตรวจโรคทั้ง 2 ฝ่าย
5. ในการแข่งขันกีฬาที่มีม้าเข้าร่วมทุกประเภท ต้องมีการกำหนดให้ ม้าทุกตัวมีใบรับรองการตรวจโรค EIA ที่มีอายุการตรวจไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และมาจากชมรมขี่ม้าที่ปลอดโรค

เมื่อม้าของเราติดเชื้อไวรัส EIA แล้ว ควรทำอย่างไร ?

1. แยกม้าที่ติดเชื้อออกจากฝูงให้ห่างจากม้าตัวอื่นๆ อย่างน้อย 180 เมตร และให้มีการป้องกันแมลงดูดเลือดม้าที่ติดเชื้อในระหว่างที่มีการกักด้วย เช่น มีมุ้งกันแมลงบริเวณคอกหรือโรงเรือน กำจัดมูลสัตว์ สิ่งปูรองที่ใช้แล้วเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือด
2. จัดการม้าที่ติดเชื้อโดยการทำเมตตาฆาต (ทำลาย) ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือการทำลายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ.2547
3. ตรวจเลือดม้าทุกตัวที่เลี้ยงร่วมฝูงกับตัวที่ติดเชื้อ โดยให้เจาะเลือดครั้งแรกของม้าร่วมฝูงในวันแรกที่เริ่มการกัก และตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน ถ้าผลการตรวจครั้งต่อไปยังคงให้ผลบวกต้องทำลายม้าตัวที่ให้ผลบวกและเริ่มนับครั้งการตรวจใหม่อีก 2 ครั้ง เมื่อผลการตรวจซีรั่มม้าทุกตัวในฝูงให้ผลลบติดต่อกัน 2 ครั้ง จึงจะถือว่าไม่มีโรคในฝูงม้
4. ทำลายเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงม้า โดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพพ่นโรงเรือนหรือคอกม้า

สำหรับการเคลื่อนย้ายม้าไปยังต่างจังหวัด เจ้าของม้าต้องเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตเคลื่อนย้าย ดังนี้
1. สมุดประจำตัวม้าของกรมปศุสัตว์ หรือ stud book 
2. ผลการตรวจโรค EIA จากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุขภาพสัตว์ เช่น ห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certification) เป็นภาษาอังกฤษที่ลงนามรับรองโดยสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่จากประเทศต้นทาง (กรณีม้านำเข้า) เป็นผลลบ ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันที่เจาะเลือด
3. ใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร (แบบ ร.4)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นครับ